ธุรกิจศึกษาในยุคแรกมุ่งเน้นที่การฝึกฝนและเตรียมคนให้มีอาชีพทางธุรกิจ

3

อันที่จริงคำว่าธุรกิจศึกษาหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Business Education นั้น เกิดขึ้นในเมืองไทยมาค่อนข้างนานพอสมควรแล้ว แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจความหมายของคำๆนี้นัก ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอที่มาของคำๆนี้ โดยอาศัยความรู้เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสค้นคว้ามาธุรกิจศึกษา (Business Education) เกิดขึ้นมาในยุคไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันตก เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเพื่อทำการผลิตสินค้าจำนวนมากๆออกวางขาย ก็ส่งผลให้มีสินค้าหลากหลายชนิดทะลักสู่ท้องตลาด ประชาชนจากชนบทเริ่มทยอยเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในเมือง โดยเฉพาะการทำงานในโรงงาน จึงเกิดเป็นสังคมอุตสาหกรรมขึ้นมา มีการแข่งขันค้าขายกันมากขึ้น กระบวนการแลกเปลี่ยนของต่อของก็เปลี่ยนเป็นการแลกเปลี่ยนของกับเงินแทน อุตสาหกรรมและการค้าขยายตัวทวีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จึงเกิดความต้องการแรงงานทั้งในภาคผลิตและภาคธุรกิจมากมายโดยเฉพาะคนที่มีความรู้และทักษะในงานธุรกิจ จึงเกิดมีโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับงานธุรกิจ เช่น วิชาบัญชี วิชาเลขานุการ วิชาพิมพ์ดีด เป็นต้น โดยเฉพาะวิชาพิมพ์ดีดได้เปิดโอกาสให้สตรีมีโอกาสเข้ามาทำงานในภาคธุรกิจได้อย่างเต็มตัว ซึ่งการจัดการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้ก็คือการจัดธุรกิจศึกษาในยุคแรก

ที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นว่าธุรกิจศึกษาในยุคแรกนั้น มุ่งเน้นที่การฝึกฝนและเตรียมคนให้มีอาชีพทางธุรกิจ จึงถือว่าเป็นอาชีวศึกษาแขนงหนึ่ง ซึ่งนักวิชาการตะวันตกมักเรียกว่าเป็น “Learning for business occupation” แต่ต่อมาสังคมมีการขยายตัวพร้อมๆกับการเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม กระแสทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของธุรกิจศึกษาเพิ่มขึ้น นั่นคือธุรกิจศึกษาคงไม่ใช่เพียงการฝึกอาชีพให้ผู้คนเท่านั้น แต่ยังสามารถเสริมสร้างความฉลาดและเข้มแข็งในฐานะผู้บริโภคให้แก่ประชาชนได้ เพราะศาสตร์ทางธุรกิจนั้นสอนให้เราเข้าใจระบบทางการค้า การตลาด เศรษฐกิจและการเงิน จึงทำให้เราเข้าใจกระบวนงานทางธุรกิจ เข้าใจผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อประชาชนและสังคม นอกจากนี้ธุรกิจศึกษายังสามารถสอนให้เราเป็นผู้บริโภคที่ฉลาด รู้จักการเลือกสินค้าและบริการ รู้จักการออมและการลงทุนที่เหมาะสม องค์ความรู้เหล่านี้สามารถช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ