ก้าวย่างของธุรกิจการศึกษาไทยสู่ ประตู AEC ทีเปิดกว้าง

หลังจากการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 บทบาทของธุรกิจการศึกษาคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดอาเซียน ก่อนเวลานั้นมาถึงอยากทราบว่าปัจจุบันวงการการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน

เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว วงการการศึกษาไทยนับว่ามีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งของไทยติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุด 400 อันดับแรกของโลกปี 2554 ซึ่งจัดอันดับพร้อมทั้งให้คะแนนโดย Quacquarelli Symonds (QS) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของไทยยังได้รับความนิยมในฐานะที่เป็นจุดหมายของการศึกษาต่อของนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า ขณะที่ภาษาไทยเองก็เริ่มเป็นที่นิยมในการเรียนเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมองว่าภาษาไทยมีความสำคัญในการสื่อสารและการจ้างงาน จนมีนักวิเคราะห์บางรายมองว่าที่ตั้งของไทยซึ่งอยู่ใจกลางของอาเซียนเป็นปัจจัยเอื้อให้เมื่อเปิด AEC แล้ว ภาษาไทยอาจกลายเป็นภาษากลางของอาเซียนทัดเทียมภาษาอังกฤษเลยทีเดียว อันจะยิ่งดึงดูดให้นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจด้านการศึกษาของไทย อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิด AEC วงการศึกษาไทยอาจต้องเผชิญคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงที่เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วทักษะการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของโลกอยู่ในระดับดีกว่าไทย

ผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษายังมีโอกาสขยายตลาดอีกมากหากพิจารณาจากความต้องการทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรอาเซียน โดยหลังจากเปิด AEC แล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินกิจการหลากหลายรูปแบบได้ง่ายขึ้น อาทิ การให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ การตั้งสถาบันการศึกษาหรือวิทยาเขตในอาเซียน รวมทั้งการส่งบุคลากรครูไปสอนยังประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีภายใต้ AEC ด้านการศึกษาอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎหมายของประเทศต่างๆ อาทิ การจำกัดจำนวนผู้ให้บริการด้านการศึกษา สิทธิในการถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างชาติ มาตรการด้านภาษีที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจดังกล่าวของนักลงทุนต่างชาติ และการขอใบอนุญาตด้านการให้บริการ ทั้งนี้ การเปิดเสรีด้านการให้บริการการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขกฎหมายบางข้อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายของวัฒนธรรมของประเทศในอาเซียนที่ต้องการขยายตลาด เพื่อประกอบการวางนโยบายด้านต่างๆ ของสถานศึกษา อาทิ คอร์สที่เปิดสอน รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ